ในระยะหลังมานี้ เราจะเห็นข่าวการฆ่าตัวตายที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 1.5 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด
คิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปเพียงชั่วครู่ หลังจากได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจและสามารถรักษาได้ด้วยการให้กำลังใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคซึมเศร้ามีความรุนแรงกว่าที่คิด หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นายแพทย์อดิศร มนูสาร อายุรแพทย์ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ จาก โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ในเครือ“พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” เปิดเผยโดย นายแพทย์อดิศร มนูสาร อายุรแพทย์ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เกี่ยวกับอาการเหล่านี้มาให้ได้ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น และได้นำไปลองสังเกตคนใกล้ชิดกัน เพื่อเป็นประโยชน์ในการหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องได้ทันท่วงที และป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โรคซึมเศร้าคืออะไร?
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง อันเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด ได้แก่ ซีโรโตนิน (Serotonin) นอร์เอปิเนฟริน (Norepinephrine) และโดปามีน (Dopamine) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมไปถึงสุขภาพกาย มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม สารเคมีในสมอง สภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิด การเผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ลักษณะนิสัย โดยเฉพาะคนที่อ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ

อาการของโรคซึมเศร้า
ที่สังเกตได้จะมีอาการเศร้า หดหู่ ซึม หงุดหงิด โกรธง่าย มีอารมณ์รุนแรง เบื่อหน่าย หมดความสนใจ
ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยชอบมาก ๆ นอนไม่หลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับมากเกินไป เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มั่นใจในตัวเอง โทษตัวเอง มีความคิดทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นอยู่เกือบตลอดเวลา เป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 14 วัน ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
การตรวจวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติ สอบถามอาการและเรื่องราวจากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด หรือทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อให้เข้าใจและแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า ในบางรายที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการที่พบ อาจมีการตรวจร่างกาย และส่งตรวจพิเศษที่จำเป็น

แนวทางการรักษา
แนวทางการรักษามีหลายวิธี ได้แก่ รักษาด้วยการใช้ยา โดยในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าถือเป็นยาที่ปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ไม่ทำให้เกิดการติดยา และไม่ทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่เข้าใจผิดกัน นอกจากนี้ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง และไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด รักษาด้วยจิตบำบัดและการพูดคุยให้คำปรึกษา โดยแพทย์จะช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ และแนวทางในการปรับตัว หรือแม้แต่การหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง และรักษาด้วยไฟฟ้า ในรายที่มีอาการรุนแรง
ฝึกคิดบวกให้ห่างไกลจากโรคซึมเศร้า
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยหากขาดสารอาหารบางอย่างไป เช่น โอเมก้า 3 วิตามินอี วิตามินซี วิตามินดี ทองแดง และธาตุเหล็ก อาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น หมั่นออกกำลังกาย โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 30 – 40 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด
ในด้านการใช้ชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการนำตนเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้จิตใจหดหู่ ฝึกคิดบวก ควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ๆ สนุกสนาน ทำให้ตนเองรู้สึกมั่นใจและมีคุณค่า และได้ใช้เวลาร่วมกับคนอื่น ๆ มากกว่าที่จะอยู่คนเดียว

วิธีรับมือเมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า
หากคนใกล้ชิดมีอาการ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และย้ำเตือนให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ระวังเรื่องการใช้คำพูดที่บั่นทอน ซ้ำเติม หรือดูเหมือนปัญหาของเขาเป็นเรื่องเล็ก เช่น เรื่องแค่นี้เอง คนอื่นยังไม่เห็นเป็นอะไรเลย ให้กำลังใจด้วยคำพูดดี เช่น ฉันอยู่ข้าง ๆ เธอนะ เธอยังมีฉันอยู่นะ พูดคุยแบบรับฟังโดยไม่ตัดสิน เป็นต้น แสดงออกผ่านการกระทำ เช่น กอด จับมือ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ไม่ใช่ความอ่อนแอทางด้านจิตใจของผู้ป่วยแต่อย่างใด และไม่ใช่โรคประหลาด โรคนี้เป็นได้ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ต้องกลัวที่จะเข้ารับการรักษา เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่อาการก็จะยิ่งดีขึ้นเร็วเท่านั้น
หากพบว่าตนเองและคนใกล้ชิดมีอาการซึมเศร้า สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมให้คำปรึกษาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 11 แห่ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาล พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และโรงพยาบาล พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 2 จังหวัดนครสวรรค์ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี โรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร จังหวัดพิจิตร โรงพยาบาล ศิริเวชลำพูน จังหวัดลำพูน โรงพยาบาลวิรัชศิลป์ จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีและสามารถติดตามสาระดี ๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company